KUBET – “โรคมะเร็ง” ภัยเงียบอันตราย สาเหตุ สัญญาณเตือน และวิธีป้องกัน

“โรคมะเร็ง” ภัยเงียบอันตราย สาเหตุ สัญญาณเตือน และวิธีป้องกัน

“โรคมะเร็ง” ภัยเงียบอันตราย ที่คร่าชีวิตคนไทยปีละหลายหมื่นคน เปิดสาเหตุ สัญญาณเตือน รวมถึง 5 อันดับมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย และวิธีการป้องกัน

3 เมษายน 2568 “โรคมะเร็ง” ภัยร้ายที่เป็นสาเหตุคร่าชีวิตคนไทยปีหนึ่งหลายหมื่นคน ตามรายงานแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (พ.ศ. 2561-2567) ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าโรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทุกประเทศต้องเผชิญ

โดยสถิติผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ มากกว่า 140,000 คนต่อปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง มากกว่า 80,000 คนต่อปี  (ข้อมูลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) 

ล่าสุด โรคมะเร็ง ได้คร่าชีวิตของ นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา บุคลากรที่ทรงคุณค่าต่อการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

“เนชั่นทีวี” พาไปรู้จัก “โรคมะเร็ง” สาเหตุ สัญญาณและอาการ รวมถึง 5 อันดับมะเร็งที่พบบ่อยในไทย ตลอดจน วิธีป้องกัน  

“โรคมะเร็ง” คืออะไร

“มะเร็ง” (Cancer) หรือ “เนื้องอกร้าย” (Malignant tumors) คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรม ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างไร้ขอบเขตและไร้การควบคุม

จากนั้น เซลล์ร้ายได้พัฒนากลายเป็นก้อนมะเร็ง ที่รบกวนการทำงานของเซลล์ปกติในอวัยวะ และแพร่กระจายลุกลามผ่านทางระบบเลือด และระบบทางเดินน้ำเหลืองไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ตับ ลำไส้ เต้านมต่อมน้ำเหลือง มะเร็ง แตกต่างตามตำแหน่งของอวัยวะที่เป็นจุดกำเนิดของโรคและชนิดของเซลล์มะเร็ง

สาเหตุของโรคมะเร็ง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกว่า 90% เป็นสาเหตุจาก “ปัจจัยภายนอก” ไม่ใช่จากพันธุกรรมโดยตรง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่

  • พฤติกรรมการบริโภค: การกินเนื้อสัตว์ปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารซ้ำ ๆ
  • การสูบบุหรี่: เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก และมะเร็งอื่น ๆ
  • การดื่มสุรา: เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร
  • ความเครียดเรื้อรัง: มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน
  • การได้รับรังสี: เช่น การสัมผัสรังสี UV หรือรังสีจากอุปกรณ์ทางการแพทย์บ่อยครั้ง
  • การใช้สารเคมี: สารพิษจากยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีในอุตสาหกรรม
  • การติดเชื้อ: ไวรัสตับอักเสบ B, C (มะเร็งตับ), HPV (มะเร็งปากมดลูก)
  • โรคอ้วนและขาดการออกกำลังกาย
  • การบริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอ

สัญญาณอันตราย ที่ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

  • มีเลือดออกผิดปกติในบริเวณต่างๆ เช่น ทวารหนัก ปากมดลูก
  • ภาวะกลืนอาหารลำบาก รู้สึกเสียดท้องบ่อย
  • เป็นไข้เรื้อรัง
  • ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะลำบาก
  • อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน อุจจาระลำบาก
  • ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด เสียงแหบแห้ง
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก
  • แผลหายช้า หรือเป็นแผลเรื้อรัง
  • คลำได้ก้อนที่คอ เต้านม หรือตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  • ไฝ หูด หรือปานบนร่างกายขยายขนาดใหญ่ขึ้น คัน หรือมีเลือดออก
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • ตกขาวผิดปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอด

ความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็ง

มะเร็งบางชนิดอาจไม่มีอาการแสดงในระยะแรก การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง (Cancer Screening) เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจหาความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสรักษาหายขาด

อีกทั้ง “มะเร็ง” เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบในระยะแรกเริ่ม แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งได้ว่ามาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือหลายสาเหตุก็ตาม มะเร็งในระยะลุกลามจะทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบรวมถึงอวัยวะข้างเคียงและอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป จนทำให้อวัยวะเหล่านั้นไม่สามารถทำหน้าที่ได้อีกต่อไป ผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลามจึงมักเสียชีวิตในท้ายที่สุด

แพทย์จึงแนะนำหนึ่งในวิธีการป้องกันมะเร็งที่ดีที่สุด โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง มีอาการต้องสงสัย หรือมีสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งร้าย โดยการวินิจฉัยและรับการรักษามะเร็งอย่างถูกต้องและเป็นระบบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้

มะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองได้ เช่น

  • มะเร็งเต้านม 
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ 
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งปากมดลูก

เปิด 5 อันดับมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย

1. มะเร็งตับและท่อน้ำดี

  • พบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า
  • ปัจจัยเสี่ยง: ไวรัสตับอักเสบ B, C, การดื่มแอลกอฮอล์, สารอะฟลาท็อกซิน, การรับประทานอาหารดิบ

2. มะเร็งเต้านม

  • พบได้ในหญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ผู้ชายก็สามารถเป็นได้
  • ปัจจัยเสี่ยง: อาหารไขมันสูง, สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์, ขาดการออกกำลังกาย

3. มะเร็งปอด

  • มากกว่า 85% ของผู้ป่วยเกิดจากการสูบบุหรี่
  • ปัจจัยเสี่ยง: การสูบบุหรี่, ควันบุหรี่มือสอง, มลพิษทางอากาศ

4. มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

  • พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ
  • ปัจจัยเสี่ยง: อายุ 50 ปีขึ้นไป, ประวัติครอบครัว, ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

5. มะเร็งปากมดลูก

  • พบมากในผู้หญิงอายุ 30-70 ปี
  • ปัจจัยเสี่ยง: การติดเชื้อ HPV, การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย, การสูบบุหรี่

วิธีป้องกันโรคมะเร็ง

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ อาหารแปรรูป
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคมะเร็งเป็นประจำ
  • ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV และไวรัสตับอักเสบ B


vecstock freepik

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเมดพาร์ค, โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ขอบคุณภาพ : vecstock จาก freepik